ข้าม

เรียบเรียงโดย

น.พ.สุทธิพล อริยสถิตย์มั่น

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โสต ศอ นาสิก

 

แยกได้อย่างไรว่าอาการเจ็บหน้าอกเป็นจากโรคกรดไหลย้อน หรือเป็นจากโรคหัวใจขาดเลือด?

โรคกรดไหลย้อน และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทั้งสองโรคสามารถพบได้หลังจากรับประทานอาหารมื้อหนัก
ซึ่งอาจพบได้ในเวลาเดียวกัน
โดยในผู้ป่วยบางคนอาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหลังจากเกิดอาการกรดไหลย้อนเป็นตัวกระตุ้น
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าอาการกรดไหลย้อนในผู้ป่วยอาจกระตุ้นเส้นประสาทชั่วขณะทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจ

ด้วยเหตุผลนี้เมื่อคุณมีอาการเจ็บหน้าอกที่รุนแรงกว่าปกติ เทียบกับอาการแสบร้อนกลางอกทั่วไป
แต่คล้ายอาการของโรคหัวใจขาดเลือดจึงควรไปพบแพทย์โดยทันที

อาการเจ็บหน้าอกที่อาจสื่อถึง กับภาวะกรดไหลย้อน

  • อาการเจ็บหน้าอกต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง
  • เจ็บบริเวณกลางอกไม่มีอาการปวดร้าวไปที่อื่น ๆ
  • อาการเจ็บหน้าอกรบกวนการนอน หรือระหว่างมื้ออาหาร
  • อาการเจ็บหน้าอกสามารถบรรเทาด้วยยาลดกรดก่อนอาหาร

อาการเจ็บหน้าอกที่อาจเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  • มีอาการแสบร้อนกลางอกร่วมกับอาการเหล่านี้:
    • หายใจลำบาก
    • เหงื่อออก
    • คลื่นไส้ เจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นขณะออกแรง
    • มึนศีรษะ
    • หน้ามืด เป็นลม มีอาการอ่อนแรงไปทั่ว
    • อาการเจ็บหน้าอกร้าวไปข้างหลัง กราม หรือแขน

    นอกจากอาการจำพวกนี้ ถ้าคุณยัง

  • ไม่เคยมีประวัติของอาการแสบร้อนยอดอกมาก่อน และมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร่วมด้วย
  • ทานยาลดกรดแต่ยาไม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอกภายในเวลา 10-15 นาที

สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน

  1. โรคนี้เป็นโรคที่รักษาแล้วไม่หายขาด

สามารถดีขึ้นเมื่อปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม แต่ถ้ากลับไปทำพฤติกรรมเดิม ๆ โรคกรดไหลย้อนสามารถกลับมากำเริบได้อีก

ยาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการดีขึ้น ในขณะที่โรคมีความรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน การผ่าตัดรักษาสามารถทำให้หูรูดส่วนล่างกันการกระฉอกของกรดได้ดีขึ้น แต่อาจเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้

  1. อาการและอาการแสดงของโรคกรดไหลย้อนสู่หลอดอาหาร

อาการแสบร้อนกลางอกหรือลิ้นปี่ อาจมีอาการแสบร้อนท้องร่วมหรือไม่ก็ได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ เรอบ่อย หรือมีความรู้สึกว่ากรดหรือของเหลวในกระเพาะไหลขึ้นมาบริเวณช่องอก

ในบางรายมีความรู้สึกว่ามีเสมหะอยู่ในช่องคอมากผิดปรกติ เกิดจากของเหลวในกระเพาะขึ้นมากระตุ้นการสร้างเสมหะให้เพิ่มขึ้น

  1. อาการและอาการแสดงของโรคกรดไหลย้อนออกนอกหลอดอาหาร
    หรือโรคกรดไหลขึ้นไปที่หู คอ จมูก และกล่องเสียง

  1. อาการที่มีความรู้สึกแน่น หรือคล้ายมีก้อน สิ่งแปลกปลอม รู้สึกกลืนน้ำลายลำบาก
    แต่สามารถทานอาหาร และน้ำได้ปรกติ
    ในบางรายที่มีความผิดปรกติของการบีบตัวของหลอดอาหารสู่กระเพาะ
    หรือมีโรคของหลอดอาหารอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบากร่วมด้วย
  2. เสียงแหบ เกิดจากของเหลว
    หรือก๊าซในกระเพาะที่ผ่านจากหูรูดของหลอดอาหารขึ้นมาที่กล่องเสียงและเส้นเสียงที่อยู่หน้าท่อหลอดอาหาร อาการเสียงแหบพบได้ในช่วงเช้า หรือหลังรับประทานอาหาร
  3. รู้สึกเปรี้ยว หรือรับรสขมในปากและลำคอ เกิดจากน้ำกรดในกระเพาะ
    หรือน้ำดีจากลำไส้เล็กส่วนต้นไหลขึ้นมา
  4. ไอเรื้อรังเป็นสาเหตุที่พบได้ร้อยละ 33 ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน
    โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปรกติจากภาพเอกซเรย์ของช่องปอด และโพรงไซนัส
    สาเหตุจากของเหลว หรือก๊าซในกระเพาะ
    ขึ้นไปกระตุ้นที่กล่องเสียงและหลอดลมโดยตรง
    หรือเกิดจากเส้นประสาทในบริเวณคอหอยและกล่องเสียงที่ไวต่อการกระตุ้นของของเหลวในกระเพาะที่ขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนล่าง
  5. ไอ หายใจไม่ออก สำลักน้ำลาย หรือน้ำย่อยในเวลากลางคืนขณะหลับ
    โดยมีโอกาสที่ของเหลวในกระเพาะสามารถขึ้นไปที่จมูก กล่องเสียง และหลอดลมได้สะดวก ประกอบกับหูรูด
    ของหลอดอาหารคลายตัว ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการดังกล่าว
  6. โพรงจมูกมีความไวเพิ่มขึ้นจากกรด หรือของเหลวในกระเพาะที่ไปกระตุ้น
    โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้ของจมูกร่วมด้วย
  7. ท่อปรับอากาศยูสเตเชียนที่เชื่อมต่อระหว่างหลังโพรงจมูกและหูชั้นกลาง ทำงานผิดปรกติ
    ทำให้เกิดอาการหูอื้อ มีเสียงในหู หรือปวดหู ในรายที่เป็นมากอาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบได้
  8. กลิ่นปาก ฟันผุ หรือมีแผลในช่องปาก

พฤติกรรมควรหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากเป็นกรดไหลย้อน

พฤติกรรมการรับประทานอาหาร

อาหาร 2 อย่างที่สำคัญ และไม่ควรรับประทานเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีผลต่อกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้คลายตัวเกิดอาการกรดไหลย้อน คือ พืชตระกูลสะระแหน่ (มินท์) และช็อคโกแลต

อาหารเครื่องดื่มที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน หรือแสบร้อนยอดอก กลางอกซึ่งควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด ได้แก่

  • อาหารทอด อาหารมัน หรือนม ทำให้ย่อยยาก และท้องอืด
  • กาแฟ รวมทั้งกาแฟไม่มีคาเฟอีน ที่สามารถเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร
  • ชา และเครื่องดื่มโคล่า ที่สามารถเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเฉพาะไวน์แดง
  • ช็อคโกแลต
  • พืชตระกูลสาระแหน่ (มินท์)
  • กระเทียม
  • พืชตระกูลหอม เช่น หอมใหญ่ ต้นหอม

อาหารเครื่องดื่มที่เพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร ควรจำกัดปริมาณ หรือควรบริโภคในปริมาณน้อย

  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชา กาแฟ
  • น้ำโซดา
  • กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน

อาหารเครื่องดื่มที่สามารถทำลายเยื่อบุของหลอดอาหาร ควรจำกัดปริมาณ หรือควรบริโภคในปริมาณน้อย

  • น้ำที่คั้นจากพืชตระกูลส้ม และพืชตระกูลส้ม ได้แก่ ส้ม เลมอน ส้มโอ และมะนาว
  • มะเขือเทศ และผลิตภัณฑ์ของมะเขือเทศ
  • พืชตระกูลพริก เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก และ พริกหวาน เป็นต้น
  • พริกไทย

อาหารเครื่องดื่มที่สามารถขยายตัวขึ้น ทำให้เกิดแรงดันกลับเข้าไปในหลอดอาหาร

  • เครื่องดื่มอัดลมต่างๆ
  • นมถั่วเหลืองทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องมากขึ้น (นมไร้ไขมัน ไข่ขาว สามารถทานได้)

ทำไมต้องหยุดสูบบุหรี่?

บุหรี่ทำให้อาการกรดไหลย้อนของคุณเป็นมากขึ้น โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริม 3 ประการ ได้แก่

  1. ลดการสร้างน้ำลาย น้ำลายช่วยในการเคลือบ และปกป้องหลอดอาหาร
  2. กระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร
  3. ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคลายตัว
    มีผลทำให้กรดในกระเพาะอาหารเข้าไประคายเคืองในหลอดอาหารื

การปฏิบัติตนให้ห่างไกลกรดไหลย้อน

การหายใจโดยกะบังลม (Diaphragmatic breathing)

โดยหายใจเข้าเต็มที่ และหายใจออกให้สุด ทำให้กะบังลมแข็งแรงขึ้น
โดยกะบังลมนี้มีส่วนให้ความแข็งแรงของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง

ท่าทางในการนอนสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน

นอนหัวสูงโดยหนุนขาหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6 นิ้ว

การนอนตะแคงซ้าย ทำให้หลอดอาหารสูงกว่ากระเพาะอาหาร
การนอนท่านี้ช่วยลดกรดที่ไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหารขณะหลับจากลักษณะทางกายวิภาค

โรคกรดไหลย้อนมีความสัมพันธ์กับมะเร็งที่ใดบ้าง?

  • มะเร็งหลอดอาหาร : ผลแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคกรดไหลย้อน คือ
    เยื่อบุหลอดอาหารที่เปลี่ยนแปลงจากกรดจากกระเพาะอาหาร (Barrett’s esophagus)
    พบประมาณร้อยละ 15-20 ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน
    ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งหลอดอาหารในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี
    การติดตามรักษาโรคกรดไหลย้อนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย็
  • มะเร็งกล่องเสียงและในลำคอ : ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงระยะแรก
    พบว่ามีอัตราสูงที่มี
    กรดไหลย้อนขึ้นไปบริเวณกล่องเสียงและช่องคอ เมื่อตรวจด้วยเครื่องวัดค่า pH
    พบให้ผลบวกร้อยละ 85 และพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรค
    กับการตรวจชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์ ในบางการศึกษา
    พบว่ากรดน้ำดีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุของช่องคอในมนุษย์
    ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดเนื้องอกในช่องคอ (การศึกษานี้เป็นเพียงงานวิจัย
    ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน)

11 ขั้นตอนในการปฏิบัติตัว
และการรับประทานอาหารเครื่องดื่มเพื่อหลุดพ้นจากโรคกรดไหลย้อน

ขั้นที่ 1 : กินแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แทนมื้อใหญ่ แต่สามารถกินบ่อยขึ้น

ขั้นที่ 2 : ลดน้ำหนัก

ขั้นที่ 3 : หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง

ขั้นที่ 4 : จำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหาร คลายตัว

ขั้นที่ 5 : จำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่เพิ่มปริมาณของกรดในกระเพาะอาหาร

ขั้นที่ 6 : จำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ระคายเคือง
และเกิดความเสียหายต่อเยื่อบุหลอดอาหาร่

ขั้นที่ 7 : จำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดความดันทำให้กรดไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร

ขั้นที่ 8 : ปฏิบัติตัวอย่างมีระเบียบเพื่อช่วยลดและป้องกันแสบร้อนกลางอก

อาหาร และการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยเพิ่มน้ำลาย เนื่องจากน้ำลายช่วยลดกรด

น้ำลายที่เหนียวช่วยเคลือบหลอดอาหาร
และสามารถช่วยป้องกันกรดจากกระเพาะอาหาร

  • เคี้ยวหมากฝรั่ง แน่นอนต้องไม่มีมินท์ผสมอยู่
  • รับประทานยาลดกรด หรืออมยาอม
  • ดื่มน้ำเพื่อช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และล้างกรดที่เคลือบหลอดอาหารออก

ขั้นที่ 9 : อย่ารับประทานอาหารสามถึงสี่ชั่วโมงก่อนนอน

ขั้นที่ 10 : เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เพื่อลดอาการแสบร้อนกลางอก ยกหัวเตียงสูงขึ้นหกนิ้ว

ขั้นที่ 11 : อาการท้องผูกทำให้ยาลดกรดออกฤทธิ์ได้ไม่สมบูรณ์ป้องกันไม่ให้มีอาการท้องผูก
โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิก เพื่อทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวให้ดีขึ้น
ลดอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อย ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะในระยะเวลาที่สั้นลง
ลดโอกาสที่จะเกิดกรดไหลย้อน ในบางครั้งอาการท้องผูกต้องทานยาระบาย

เป็นกรดไหลย้อนแล้วหายได้ไหม?

โรคกรดไหลย้อนสามารถดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องทานยาไปตลอด ในผู้ป่วยบางรายสามารถลดยาลงมาจนสามารถทานยาเป็นครั้งคราวได้ หรือบางรายสามารถหยุดยาได้

แต่อาการสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก จากพฤติกรรมเสี่ยง อาหารบางอย่างอายุที่เพิ่มขึ้น

ในระยะแรกควรทานยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน เพราะถ้าหยุดยาเองเร็วเกินไป ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กังวลว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่อาการสำคัญที่ผู้ป่วยควรจะรีบมาพบแพทย์ คือ เสียงแหบหรือเจ็บคอร่วมกับมีเลือดออก กลืนของแข็งไม่ลง ไอเป็นเลือดหายใจหอบเหนื่อย มีเสียงดัง หรือเจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปแขนซ้ายที่สงสัยว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

บทความ 1 มกราคม 2564