ข้าม

รองศาสตราจารย์ นพ.ศักรินทร์ จิรพงศธร

แผนกโรคทางเดินอาหารและตับ รพ.พระมงกุฎเกล้า

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.บำรุงราษฏร์

โรคกรดไหลย้อนคืออะไร

โรคกรดไหลย้อน หรือ GERD (Gastro-Esophageal Reflux Disease) คือ ภาวะที่เกิดจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นกรด หรือ ด่างก็ได้ ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร น้ำย่อยเหล่านี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการ หรือ ภาวะแทรกซ้อนที่รบกวนคุณภาพชีวิต

อาการที่พบบ่อย

อาการที่พบบ่อยของโรคกรดไหลย้อนมี 4 อาการหลักๆ รวมถึงอาการอื่นๆที่อาจคาดไม่ถึง

  • แสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก มักเกิดอาการหลังรับประทานอาหาร ซึ่งอาจมีอาการแย่ลงในเวลากลางคืน
  • เรอเปรี้ยว หรือ รับรสเปรี้ยว รสขมในปากและลำคอ
  • สำรอกน้ำย่อย หรือเศษอาหารขึ้นมาในปากและลำคอ
  • อาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ รู้สึกจุกแน่นในลำคอ กลืนลำบาก
    หรือเจ็บแน่นหน้าอกโดยไม่ได้มีสาเหตุจากโรคหัวใจและโรคในระบบอื่นๆ

ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ยังอาจพบอาการผิดปกติในระบบอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง
  • กล่องเสียงอักเสบ
  • เสียงแหบ
  • กระตุ้นให้อาการหอบหืดแย่ลง

ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง
ซึ่งสามารถรักษาด้วยตนเองได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หรือการทานยาสามัญที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายยาทั่วไป
ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง
หรือมีอาการสัญญานเตือนของโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่มีอาการคล้อยโรคกรดไหลย้อน เช่น มะเร็ง ควรรีบปรึกษาแพทย์

เมื่อไหร่ต้องไปปรึกษาแพทย์

ผุ้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก หรือมีอาการเจ็บหน้าอกร้าวมา
ที่กรามหรือแขน อาการเหล่านี้อาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ทันที

ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการอื่นๆ ของโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการรุนแรง เป็นซ้ำอยู่บ่อยๆ
หรือรับประทานยามานานเกิน 2 สัปดาห์แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการสัญญานเตือน
เช่น อาเจียนมีเลือดปน กลืนอาหารลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ น้ำหนักลด
คลำได้ก้อนที่บริเวณลำคอ ควรรีบไปพบแพทย์

การรักษาโรคกรดไหลย้อนเบื้องต้น

การรักษาเบื้องต้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการ
    เช่น อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง ชากาแฟ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
    หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนนอน พยายามลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน และ
    หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่นโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
  2. การรักษาด้วยยา ควรใช้ยาเพื่อการรักษาโรคกรดไหลย้อนภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
    ยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
  • ยากลุ่มอัลจีเนต มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ
    ออกฤทธิ์ในการลดกรดและสร้างชั้นเจลเพื่อลดการไหลย้อนของกรดเกินในกระเพาะอาหาร
    นอกจากนี้ยายังออกฤทธิ์เร็วในการบรรเทาอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกได้ดีกว่ายากลุ่มอื่นๆ
    และยังสามารถใช้ได้กับแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร
    ด้วยประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการและความปลอดภัยจึงอาจใช้เป็นยาในการรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย
    อย่างไรก็ตามเนื่องจากยากลุ่มนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งการหลั่งกรด
    จึงอาจมีประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นยาชนิดเดียวในการรักษากรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อนที่รุนแรง
    เช่น ผู้ป่วยที่มีหลอดอาหารอักเสบร่วมด้วย
  • ยากลุ่ม proton-pump inhibitor
    เป็นยาชนิดเม็ดออกทธิ์โดยตรงในการยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
    ทำให้ยามีประสิทธิภาพในลดกรดได้ดีกว่ายากลุ่มอัลจีเนต
    แต่การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
    เนื่องจากยาอาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยในระยะยาวได้
    นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้เป็นยารักษาโรคกรดไหลย้อนตัวแรกกับแม่ตั้งครรภ์

การวินิจฉัยและแนวทางปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยโรคกรดไหลย้อน

ตรวจสอบอาการ คลิ๊ก

บทความ 1 มกราคม 2564